ความเป็นมา
เนื่องจากคดีทรัพย์สินทางปัญญาและคดีการค้าระหว่างประเทศมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งทั่วไป กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอโครงการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เป็นศาลชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและคดีการค้าระหว่างประเทศโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และมีบุคคลภายนอกซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้าร่วมพิจารณาพิพากษาคดีด้วย เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPs)
ปัจจุบันศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีเพียงแห่งเดียว คือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 ตั้งอยู่เลขที่ 34 ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
นโยบายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
1. เป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รวดเร็ว เที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ
2. ส่งเสริมให้คู่ความสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินคดีได้เอง
3. จัดให้มีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อยังให้เกิดการประนีประนอมยอมความในชั้นศาล
4. นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ มาใช้ในการบริหารและปฏิบัติงาน
5. จัดระบบการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทั้งภายในและภายนอกให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับศาล
6. เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การให้มีบรรยากาศเป็นมิตร มีขั้นตอนการดำเนินงานที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้
7. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในระดับสากล
8. ประสานความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การอื่นทั้งในและระหว่างประเทศ
9. พัฒนาบุคลากรทั้งฝ่ายตุลาการและธุรการให้มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมในการปฏิบัติงาน